ภาคตะวันตก
จังหวัดกาญจนบุรี

ถ้ำรูปเขาเขียว

ที่ตั้ง

หมู่ 7 บ้านต้นมะม่วง (เดิมอยู่ในเขตบ้านบ้องตี้น้อย) ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค

พิกัดทางภูมิศาสตร์

เส้นรุ้งที่ 14o 10′ 58″ เหนือ เส้นแวงที่ 99o 01′ 16″ ตะวันออก พิกัดกริดที่ 47 PNR 023678 ระวางที่ 4837 III

สถานที่ตั้ง 

สภาพที่ตั้ง

เขาเขียว เป็นเทือกเขาหินปูนบริเวณที่พบภาพเขียนเป็นหน้าผาทางด้านทิศตะวันตก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 590 เมตร

การค้นพบ

โดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย – เดนมาร์ก เมื่อ พ.ศ. 2505

หลักฐานทางโบราณคดี

จากการสำรวจและขุดตรวจเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยคณะสำรวจ ฯ ไทย – เดนมาร์ก พบเครื่องมือหินกะเทาะ จำนวน 7 ชิ้น
ไม่พบเศษภาชนะดินเผาเลย

ลักษณะของถํ้าและภาพเขียนสี

ภาพคน สัตว์ มือ และลายเรขาคณิต ปะปนกัน ระบายสีทึบและลายเส้นด้วยสีแดง แดงเข้ม จนถึงดำ สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มๆ อยู่สูงจากพื้นประมาณ 2.5 เมตร ขึ้นไป ภาพเขียนส่วนมากอยู่บนผนังเพิงผาด้านเหนือ

สภาพที่ตั้ง

ภาพคน เขียนเป็นกลุ่มๆ เรียงเป็นแถว 4-5 คนหรือมากกว่านั้น และภาพคนร่วมกับภาพอื่นๆกระจายบนผนัง เขียนแบบเงาทึบ (silhouette) และแบบโครงร่างรอบนอก (outline)

ภาพคน เขียนเป็นกลุ่มๆ เรียงเป็นแถว 4-5 คนหรือมากกว่านั้น และภาพคนร่วมกับภาพอื่นๆกระจายบนผนัง เขียนแบบเงาทึบ (silhouette) และแบบโครงร่างรอบนอก (outline)

ภาพคน ยืนเรียงแถว หันหน้าตรง แสดงอาการเคลื่อนไหวและยืนนิ่งเฉย บางภาพอาจแสดงอวัยวะเพศ เพราะมีการลากเส้นทึบยื่นออกมาระหว่างขา หรืออาจเป็นชายผ้าก็ได้

ขนาดของภาพคนมีขนาดใหญ่ต่างกัน สูงประมาณ ตั้งแต่ 20 – 50 ซม. ภาพคนยืนกางแขนจูงมือเรียงกันเป็นแถว มีขนาดสูงประมาณ 5 ซม. จำนวน 72 คน เรียงกันเป็นแถวยาวประมาณ 2 เมตร ภาพคนมักเขียนแบบกิ่งไม้ (Stick man)

ภาพสัตว์ : ส่วนมากภาพสัตว์เขียนเป็นแบบระบายสีทึบ (Silhouette) มีลักษณะเป็นธรรมชาติ อาจเป็นประเภท กวาง สุนัข กบหรือเขียด เต่า ช้าง ตะกวดหรือตุ๊กแก และชะนี ภาพชะนีนี้มีความสัมพันธ์ร่วมกันกับภาพคน 2-3 คน ที่อยู่ใน อาการเคลื่อนไหวคล้ายวิ่ง บางคนถือวัตถุบางอย่างในมือด้วย ซึ่งภาพนี้น่าจะแสดงกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีภาพที่เป็นลายเส้นเค้าโครงร่างรอบนอก (Outline) ของภาพสัตว์ประเภทนกฮูก เต่า และยังมีภาพลายเส้นรูปทรงเรขาคณิต ที่อาจแสดงภาพสัตว์จำพวกปลา หรือนก อีกด้วย

ภาพมือ : พบเพียงภาพเดียว เป็นภาพมือข้างซ้าย เทคนิคการทำเป็นแบบพ่นสีลงบนมือที่ทาบบนผนัง (Stencil) และเป็นภาพมือภาพเดียวที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี

ภาพลายเรขาคณิต : ภาพแสดงด้วยลายเส้นเป็นเค้าโครง หรือ รูปทรงต่างๆ และภาพลายเส้นผสมกับระบายสีทึบ อาจเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย หรือแสดงภาพต้นไม้ บ้าน เครื่องมือต่างๆ หรือภาพดวงอาทิตย์  รวมทั้งภาพสัตว์ด้วย

ภาพเหล่านี้เขียนขึ้นในระยะเวลาที่ต่างกัน เนื่องจากมีการเขียนภาพซ้อนทับกันและใช้สีแดงที่มีความอ่อนแก่ไม่เท่ากัน ความต้องการในการสื่อความหมาย หรือเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงออกมาด้วยความสัมพันธ์ของภาพคนในกลุ่มเดียวกัน หรือภาพคนกับภาพสัตว์ ภาพสัตว์กับภาพลายเส้น หรือภาพคน ภาพสัตว์กับภาพลายเส้นรูปทรงต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีความเกี่ยวพันกันอาจเพียงแสดงถึงสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ หรืออาจมีพิธีกรรมความเชื่อรวมอยู่ด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตามจากการค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะ ประกอบกับสภาพของถ้ำและสภาพแวดล้อม รวมทั้งภาพเขียนกลุ่มคน ภาพสัตว์ และภาพลายเส้นที่อาจหมายถึงบ้าน ทำให้สันนิษฐานว่าชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่บนที่ราบเชิงเขานี้ เป็นชุมชนล่าสัตว์และอาจเลี้ยงสัตว์ด้วย ไม่ได้ใช้ถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัยถาวร น่าใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมหรือทำกิจกรรมพิเศษมากกว่า อาจอยู่ในช่วงระหว่างยุคหินใหม่ถึงยุคโลหะ(สำริด)

Scroll to Top