ภาคเหนือ
จังหวัดลำปาง
ค่ายประตูผา
ที่ตั้ง
บ้านจำปุย ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ ในเขตพื้นที่ดูแลของกองพันฝึกรบพิเศษที่ 3 ค่ายประตูผา
พิกัดทางภูมิศาสตร์
เส้นรุ้งที่ 99o 49′ 30″ เหนือ เส้นแวงที่ 18o 30′ 40″ ตะวันออก พิกัดกริดที่ 47 QNA 869466 ระวางที่ 4946 II
สถานที่ตั้ง
สภาพที่ตั้ง
อยู่บนเส้นทางหลวงหมายเลข 1 ( ลำปาง-งาว ) กม. ที่ 48 ศาลเจ้าพ่อประตูผาเลียบหน้าผาทางด้านตะวันออกของศาลเจ้าพ่อประตูผาไปประมาณ 200 เมตร จะพบหน้าผาและภาพเขียนสีเป็นระยะๆ
การค้นพบ
ในปีพ.ศ. 2531 ร.อ. ชูเกียรติ มีโฉม ได้ค้นพบแหล่งภาพเขียนสีนี้ในเขตพื้นที่ฝึกของกองพันฝึกรบพิเศษ ที่ 3 แต่มิได้นำมาเปิดเผยเพราะอยู่ในเขตทหารและไม่ทราบความสำคัญ10 ปีต่อมา พันเอกอภิชาติ ชูเกียรติตระกูล ผู้บังคับบัญชากองพัน ฯ แจ้งให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ นายนำพล โพธิ์วงศ์ ทราบ จึงได้แจ้งต่อมายังนางสาววิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดี
จึงทำให้สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ทำการสำรวจ และมีการขุดค้นในเวลาต่อมา
หลักฐานทางโบราณคดี
มีการทำการขุดค้นใต้บริเวณที่พบภาพเขียนสีได้พบโครงกระดูก 4 โครง ซึ่งมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมในการฝังศพ ศพห่อด้วยใบไม้ เปลือกไม้ เสื่อ และโลงไม้ขุด ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบและลายจุด ลูกปัดหิน กำไลหิน เส้นไยพืช ผ้า
เครื่องจักสาน เครื่องมือหิน เครื่องมือ หินขัด ขวานหินมีบ่า เครื่องมือกระดูก กระดูกสัตว์ เช่น นก วัว เขากวาง กระดองเต่า เป็นต้น เปลือกหอย ข้าว เมล็ดพืช ไยไผ่ ทัพพีไม้เขียนลายสีแดง ดินเทศ และหินสีแดงซึ่งน่าจะนำมาใช้ในการเขียนสี
ลักษณะของถํ้าและภาพเขียนสี
ภาพเขียนสีปรากฎตามผนังเพิงผาเป็นระยะๆ ตลอดแนวประมาณ 280 เมตร แบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม รวมความยาวของกลุ่มภาพประมาณ150 เมตร ภาพอยู่สูงตั้งแต่ระดับพื้นดินถึงประมาณ 12 เมตร นับภาพได้ประมาณ 1883 ภาพ สามารถจำแนกประเภทของภาพได้ 1,239 ภาพ อีกมากกว่า 633 ภาพ ไม่ชัดเจน
ภาพทั้งหมดสามารถแยกประเภทได้เป็น ภาพคน ทั้งเพศหญิงและเพศชายประมาณ 50 ภาพ ภาพสัตว์ เช่น เต่า วัว เลียงผา กระรอก สุนัข ลิง ไก่ นก และผีเสื้อ เป็นต้น
ภาพพืชพันธุ์ไม้ ภาพเครื่องใช้ และภาพสัญลักษณ์ ซึ่งภาพทั้งหลายใช้วิธีการลงสีแบบเงาทึบ หรือเงาทึบบางส่วนและแบบลายเส้น
ส่วนภาพที่ปรากฏร่วมกับภาพอื่นๆ เสมอคือภาพมือที่พบเป็นจำนวนมาก ประมาณ 960 ภาพ มีทั้งมือซ้ายและมือขวาของผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งลงสีทั้งแบบพ่น และทาบกดประทับ บางภาพมีการตกแต่งเพิ่มเติมภายในมือเป็นลายเส้นขีดขวางนิ้วขนานกัน หรือเพิ่มวงกลมโดยรอบมือ เป็นต้น ทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง นอกจากนี้ยังมีภาพสลัก 2 ภาพ รูปกากบาท และเส้นหยักฟันปลา
ภาพทั้งหมดมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ภาพคนกับวัว ภาพมือกับภาพสัญลักษณ์ ภาพมือหลายมือร่วมกับภาพคน ภาพสัตว์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเล่าเรื่องกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การดำรงชีวิต พิธีกรรมความเชื่อ ความตาย โดยแสดงสื่อความหมายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงภายใต้เพิงผาหินนี้ โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการ ขุดค้นเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างภาพเขียนสีกับโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบ อีกประการหนึ่งลักษณะของภาพเขียนสีที่ค่ายประตูผานี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีในเขตภาคอีสานมาก